นักดาราศาสตร์จีน พบกระจุกดาวเปิด 101 แห่ง

กระจุกดาวเปิด (Open clusters–OCs) ก่อตัวขึ้นจากเมฆโมเลกุลขนาดยักษ์กลุ่มเดียวกัน เป็นกลุ่มดาวฤกษ์ที่ยึดโยงกันอย่างหลวมๆ ปัจจุบันมีการค้นพบกระจุกดาวเปิดมากกว่า 1,000 แห่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก แต่นักดาราศาสตร์ยังคงเฝ้าหาเพิ่มเพราะหวังว่าจะพบกลุ่มดาวฤกษ์ที่หลากหลาย ซึ่งการศึกษารายละเอียดกระจุกดาวเปิดอาจสำคัญต่อการพัฒนาความเข้าใจการก่อตัวและวิวัฒนาการของกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา
ล่าสุด ทีมนักดาราศาสตร์นำโดย ฉิน ซ่งเหมย จากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์เซี่ยงไฮ้ ในจีน รายงานการค้นพบกระจุกดาวเปิดใหม่ 101 แห่งในกาแล็กซีทางช้างเผือก หลังจากอาศัยการใช้อัลกอริทึมการจัดกลุ่ม กับข้อมูลจาก Data Release 3 (DR3) ของดาวเทียมไกอา ที่เป็นเครื่องมือขององค์การอวกาศยุโรป ทีมงานของ ซ่งเหมย สามารถระบุกระจุกดาวเปิดได้ 324 แห่ง โดยพบว่ามี 101 แห่งไม่เคยมีรายงานมาก่อน ดังนั้น การค้นพบนี้จึงเพิ่มจำนวนกระจุกดาวเปิดในบริเวณใกล้เคียงภายใน 1,600 ปีแสงจากโลก
ในบรรดากระจุกดาวเปิดที่เพิ่งค้นพบนี้ มีคู่กระจุกดาวเปิด 19 คู่ที่มีต้นกำเนิดร่วมกัน โดยมีอายุต่างกันน้อยกว่า 30 ล้านปี และยังมีกระจุกดาวเปิดแบบแฝด 3 มีระยะห่างจากกันน้อยกว่า 65 ปีแสง แต่อายุต่างกันน้อยกว่า 10 ล้านปี นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่าแฝด 3 เหล่านี้ก่อตัวขึ้นจากเมฆโมเลกุลเดียวกันนั่นเอง.
Credit : Songmei et al., 2022
คุณกำลังดู: นักดาราศาสตร์จีน พบกระจุกดาวเปิด 101 แห่ง
หมวดหมู่: ต่างประเทศ
แหล่งที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2593553