'ชิมชาอัสสัม กาแฟนาคาแลนด์ ข้าวแกงเมฆาลัย' อลังการอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ
“อินเดีย” ประเทศกว้างใหญ่ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า “อนุทวีป” แม้ประวัติศาสตร์ยุคใหม่เริ่มต้นเมื่อกลางเดือน ส.ค. 75 ปีก่อนทำให้พื้นที่ของอินเดียต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่วันนี้ความมหัศจรรย์ทางภูมิศาสตร์ของประเทศยังคงอยู่ โดยเฉพาะอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือที่เชื่อมต่อและมีความคล้ายคลึงกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยเป็นอย่างมาก

ข้อมูลจากเอกสาร “มหัศจรรย์อินเดีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ประตูสู่ดินแดนตะวันออก สวรรค์ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจ” ระบุว่า อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือประกอบด้วย รัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐอัสสัม รัฐมณีปุระ รัฐเมฆาลัย รัฐมิโซรัม รัฐนาคาแลนด์ รัฐสิกขิม และรัฐตรีปุระ พื้นที่รวม 265,000 ตารางกิโลเมตร ระบบนิเวศและวิถีชีวิตผู้คนขึ้นอยู่กับแม่น้ำสายหลักได้แก่ แม่น้ำพรหมบุตรและแม่น้ำบาราค ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ทว่าดินแดนแห่งนี้ไม่ได้ห่างไกลความเจริญมากนัก
งานเทศกาลอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ (North-East India Festival) ครั้งที่ 2 เมื่อวันก่อนเรียกได้ว่า เป็นการยกภูมิภาคที่น่าตื่นตาตื่นใจมาตั้งอยู่ ณ ห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงเทพฯ มีการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร งานฝีมือ แฟชั่นโชว์ที่คนรักอินเดียพลาดไม่ได้World Pulse ก็ไม่พลาดเช่นกัน การชมงานเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (31 ส.ค.) เริ่มต้นที่บูธ Bodoland Territorial Council เจอคุณบิปุล บัสมาตารี กรรมการผู้จัดการเอ็มบีเน็ตเวิร์ก เมืองโบโดแลนด์ รัฐอัสสัม กำลังง่วนชงชาทั้งชาแดงชาเขียว World Pulse จึงเข้าไปทักทายได้ความว่า โบโดแลนด์ปลูกชามาหลายปีแล้ว พื้นที่ 70% ปลูกชาและมีชื่อเสียงระดับโลก
“ความโดดเด่นของชาโบโดแลนด์คือ ใช้มือทั้งกระบวนการ ชาที่อื่นทำในโรงงานใช้เครื่องจักร แต่ชาที่นี่ใช้มือทั้งหมด รสชาติจึงแตกต่างจากชาที่ผลิตในโรงงาน เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ได้ชิม” บิปุลเล่าอย่างภาคภูมิใจพร้อมเสริมว่านอกจากชาแล้วยังมีผ้าไหมที่หาไม่ได้ในประเทศอื่น มีเฉพาะที่โบโดแลนด์และอัสสัม และมีแก้วมังกรลูกใหญ่ตามสภาพภูมิศาสตร์
ระหว่างที่คุยกันนั้นสายตาเหลือบไปเห็นลูกอะไรเขียวๆ ยาวๆ ขนาดเกือบเท่ามะม่วง
“ที่เห็นใหญ่ๆ อย่างนั้นคือเลมอนนะครับ ไม่ใช่มะม่วง ลูกใหญ่มาก มีเฉพาะในโบโดแลนด์เท่านั้น เป็นเลมอนที่เปรี้ยวที่สุดในโลก”บิปุลคลายข้อสงสัยพร้อมย้ำว่า แม้เลมอนโบโดแลนด์รสชาติเปรี้ยวมากแต่ก็มีกลิ่นหอม ลองดมดูกลิ่นหอมจริงๆ แต่เมื่อลองชิมที่ว่าเปรี้ยวมากนั้นก็ไม่ค่อยเท่าไหร่ เรียกได้ว่า “เปรี้ยวพอทน” เหมือนกับมะนาวทั่วๆ ไป แต่ใจก็อยากซื้อไปลองทำเลมอนน้ำผึ้งโซดาสอบถามราคาได้ความว่า ที่นั่นขายกันลูกละ 10 รูปีตีง่ายๆ ว่า 5 บาท ลองซื้อมาชิมหนึ่งลูกบิปุลหยิบมาให้สองลูก “ซื้อหนึ่งแถมหนึ่งครับ”
เนื่องจากวันนั้นเป็นวันที่สองหรือวันสุดท้ายของงาน จึงสอบถามถึงความชื่นชอบของคนไทยที่มาเยี่ยมชม บิปุลบอกว่า คนไทยน่าอัศจรรย์มาก มาสอบถามเรื่องสินค้าและการท่องเที่ยวอย่างน่าสนใจ
แล้วอย่างนี้ถ้าจบงานแล้วคนไทยอยากไปเที่ยวโบโดแลนด์จะทำอย่างไร
"นั่งเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปโกลกาตาแล้วนั่งเครื่องต่อไปกูวาฮาติจากนั้นนั่งรถไปโบโดแลนด์ 50 กิโลเมตรราวหนึ่งชั่วโมง 20 นาที ถนนไม่ค่อยดีอาจต้องใช้เวลาหน่อยนะครับ" เจ้าของพื้นที่ออกตัว แต่สภาพแบบนี้คงถูกใจนักท่องเที่ยวสายธรรมชาติที่ต้องการไปแหล่งท่องเที่ยวงดงามบริสุทธิ์
World Pulse ร่ำลาบิปุลด้วยคำสัญญาว่าจะเจอกันใหม่ที่โบโดแลนด์
เดินข้ามมายังบูธอีกฝั่งเจอคุณพิษณุ เมธี (Er. Bhishnu P Medhi) ผู้บริหารคณะกรรมการวิจัยและที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยดอนบอสโก อัสสัม นำผลิตภัณฑ์ชามาสาธิตทั้งชาดำ ชาเขียวออร์แกนิก และชาธรรมดา (orthodox tea)
"เราพัฒนาคลัสเตอร์ชาด้วยความสนับสนุนของกระทรวงวิสาหกิจขนาดเล็ก ย่อม และกลาง (MSME) รัฐบาลอินเดีย ที่เลือกและแต่งตั้งหน่วยงานปฏิบัติพัฒนาคลัสเตอร์ที่คนกว่า 500 คนได้ประโยชน์โดยตรงจากการปลูกชาอินเดีย แล้วขายชาให้โรงงาน นำเงินมาพัฒนาผลิตภัณฑ์" พิษณุกล่าวและว่าชาของกลุ่มเป็นสินค้าออร์แกนิกผู้บริโภคดื่มแล้วได้ประโยชน์ทั้งด้านสุขภาพและจิตใจ
“อย่างที่ทราบกันว่าชาอัสสัมมีชื่อเสียงทั่วโลก ผู้คนหลงใหลกันมาก พวกเราจึงเกิดแนวคิดทำชาออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากสินค้าที่เราพัฒนาขึ้น”
การมาเมืองไทยของตัวแทนธุรกิจอัสสัมครั้งนี้ พิษณุเล่าว่า คนไทยตอบรับเป็นอย่างดี
"เรามานี่เหมือนอยู่ที่บ้าน หวังว่าจะได้สร้างสัมความสัมพันธ์ยิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคต วันนี้อย่างน้อยๆ ก็ได้นำสินค้ามาแสดงให้คนไทยได้รู้จักครับ”
เมื่ออัสสัมมีดีที่ชา นาคาแลนด์ก็มีกาแฟ บูธการท่องเที่ยวนาคาแลนด์มีกาแฟมาจำหน่ายทั้งแบบถุงคั่วบดและชงสดหน้างาน คุณรวี ชาวไทยเชื้อสายอินเดียที่มาชมงาน ชิมกาแฟนาคาแลนด์แล้วกล่าวว่า กลิ่นดีไม่เปรี้ยว แตกต่างจากกาแฟจากพื้นที่ใหม่ๆ ที่มักจะเปรี้ยว
“เปิดนาคาบัคส์ได้เลยนะเนี่ย” ลูกค้าชาวไทยเอ่ยปากชมและว่า ตนและครอบครัวสนใจอินเดียตะวันออกเฉียงเหนืออย่างอัสสัม นาคาแลนด์ เมฆาลัยอยู่แล้ว ถ้าเปิดเที่ยวบินตรงเมื่อใดจะไปแน่นอน
นอกจากชา กาแฟแล้ว อาหารเป็นอีกบูธหนึ่งที่ต้องไปสังเกตการณ์โมเทน คอนยาคตัวแทนจากนาคาแลนด์ เคยกล่าวเมื่อวันแถลงข่าวที่สถานทูตอินเดียว่าอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือมีอาหารที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร ภายในงานจะมีซุ้มอาหารของแต่ละรัฐที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง รัฐหนึ่งมีไม่น้อยกว่าหกเมนูมาให้คนไทยได้ลองชิมเมื่อไปชมงานจริงๆ พบว่า ไม่ผิดไปจากที่เขาพูดไว้อาหารหลายชนิดหน้าตาเหมือนอาหารไทยมาก เช่น บูธ Exotic Mamipura Cuisinesมีข้าวสวยกับแกงหมู แกงไก่แม่ครัวบอกว่า แม้ดูคล้ายอาหารไทย “แต่แตกต่างตรงที่ไม่ใส่น้ำตาล พริกเผ็ดกว่า และออร์แกนิกตรงที่ไม่มีซอส ใช้ส่วนประกอบธรรมชาติกลิ่นจึงดีมาก”
ส่วนที่บูธรัฐเมฆาลัย มีข้าวเหลืองๆ คล้ายข้าวหมก เรียกว่า Jadoh (Ja แปลว่า ข้าว doh แปลว่า เนื้อ) หุงด้วยขมิ้นชัน ขิง พริกไทย เกลือ “กินแล้วไม่เป็นอัลไซเมอร์” แม่ครัวบอกใกล้ๆ กันเป็นหม้อแกงสองหม้อที่ดูยังไงก็คือแกงเผ็ดไก่กับแกงเผ็ดปลาดุกชัดๆสมแล้วกับคำพูดของเจ้าของพื้นที่ “อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือคล้ายกับไทยมาก”
ชา กาแฟ และอาหารที่เล่ามารวมถึงงานศิลปะ แฟชั่นโชว์และการแสดงทางวัฒนธรรมบนเวที เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือที่นำมาให้คนไทยได้รู้จักพอเป็นน้ำจิ้ม ที่ยกมาไม่ได้คือธรรมชาติอันแสนงดงาม ใครอยากสัมผัสก็ต้องไปด้วยตนเองเชื่อแน่ว่าจบเทศกาลแล้ว อินเดียตะวันออกเฉียงเหนือจะเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายที่คนรักการท่องเที่ยวแนวผจญภัย หรือหนุ่มสาวที่ชอบวัฒนธรรมร่วมสมัยต้องใส่ไว้ในลิสต์การเดินทางชนิดพลาดไม่ได้
คุณกำลังดู: 'ชิมชาอัสสัม กาแฟนาคาแลนด์ ข้าวแกงเมฆาลัย' อลังการอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือ
หมวดหมู่: ต่างประเทศ
แหล่งที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/blogs/world/1019170